G-Pen ตอนที่ 2 : การใช้ G-pen เบื้องต้นแบบง่ายๆ

สวัสดีเพื่อนๆทุกคนครับ กลับมาพบกันอีกแล้ว กับART SUPPLIES ในเว็บManga course partyของหมู่เฮา
บทความที่อ่านกันอยู่นี้จะเป็นตอนที่สองนะครับ สำหรับในเรื่องของG-pen ซึ่งต่อเนื่องจากบทความที่แล้ว  ที่เราได้แนะนำและทำความรู้จัก รวมถึงคุณสมบัติคร่าวๆของG-penในแต่ละยี่ห้อไป ยังไงก็เลือกใช้งานกันตามความชอบเนอะ.....ส่วนในตอนที่สองนี้ เราจะมาเรียนรู้การใช้งานG-penคร่าวๆกัน แล้วจะรู้ว่ามันไม่ได้ใช้งานยากอะไรเลย (หรืออาจจะยากมากก็เป็นได้ 555)

แต่ก่อนที่จะเข้าเรื่องวิธีใช้นั้น ผมอยากจะเพิ่มเติมเรื่องอุปกรณ์เสริมที่สำคัญของG-penให้ทุกคนสักหน่อยครับ

นั่นก็คือ!!!!!!!!!........



ด้ามG-penนั่นเอง! (ตื่นเต้นทำไม...)

อย่างที่เคยเขียนเอาไว้ในบทที่หนึ่งครับว่าG-penนั้นมันมีแต่หัวปากกา หาได้มีตัวด้ามหรือหมึกติดตัวมาแต่อย่างใด....ตัวด้ามนั้นจึงเป็นอุปกรณ์เสริมที่สำคัญมากอีกชิ้นหนึ่งที่ขาดเสียมิได้เลยในการใช้งานG-pen   โดยในปัจจุบัน(ในบ้านเรา) มีตัวด้ามให้เลือกซื้อกันหลากหลายแบบ หลากหลายราคา ตั้งแต่เกรดถูกสุดๆ   อย่างด้ามพลาสติก ไปจนถึงด้ามไม้หรือด้ามเหล็กหลากหลายรูปแบบเลยทีเดียว แต่ราคาก็จะสูงปรี๊ดดดตามๆกันไปเช่นเดียวกัน......

ข้อแนะนำในการเลือกซื้อตัวด้าม ควรจะเลือกซื้อด้ามที่สามารถใส่หัวปากกาได้หลากหลายรูปแบบครับ
เนื่องมาจากหัวปากกาตระกูลdip penนั้น มีหลากหลายรูปแบบให้เลือกใช้งานตามความชอบและ
ความเหมาะสม โดยที่บางหัวนั้น มีขั้วที่เอาไว้เสียบลงไปกับตัวด้ามปากกาในขนาดที่แตกต่างกัน (ซึ่ง
หัวปากกาชนิดอื่นๆ ผมจะนำมาแนะนำในบทความชิ้นต่อๆไปครับ) การเลือกซื้อด้ามจึงควรสังเกตที่หัว
ด้ามว่ามีรูให้ใส่กี่ชั้น ซึ่งโดยทั่วๆไปก็จะมีตั้งแต่รูชั้นเดียว - สองชั้น ให้เลือกซื้อกันครับ


และในการนำหัวใส่ลงไปกับตัวด้ามนั้น ควรใส่ลงไปให้สุด ให้แน่น ซึ่งอาจจะใส่ยากหน่อยในครั้งแรก
เพราะไม่เช่นนั้นแล้วหัวปากกาอาจจะมีอาการง่อกๆแง่กๆ ดูหลวมๆขณะใช้งานได้นะ



นอกจากด้ามปากกาแล้ว อุปกรณ์เสริมอื่นๆที่ขาดไม่ได้เลย ก็จะมีหมึก (แหงล่ะ ไม่มีหมึกแล้วจะเขียน
ยังไง......ซึ่งในส่วนของหมึกเองก็เช่นกัน ที่ผมจะเขียนบทความเกี่ยวกับหมึกให้ในเวลาต่อไปครับ)
น้ำสำหรับล้างหัวปากกา และกระดาษทิชชู่เอาไว้เช็ดหัวปากกาให้แห้งทุกครั้งหลังล้าง




เห็นรูปข้างบนแล้วอย่าเพิ่งตกใจครับ 5555
ผมกำลังจะบอกว่าหมึกนั้น เราควรแบ่งใช้แต่พอประมาณ อาจจะแบ่งใส่ขวดสักประมาณก้นขวด
ก็เพียงพอแล้วครับ พอหมดแล้วค่อยเติมใหม่ และเวลาเราพักมือก็สามารถนำปากกาจะไปจิ้มพักไว้
ในขวดหมึกตามรูปได้ จะได้ไม่ต้องล้าง (แต่อย่าทิ้งเอาไว้แบบนั้นจนลืมเก็บหลังเลิกใช้งานนะ!!)

สำหรับการจุ่มหมึกนั้น ก็ควรจุ่มแต่พอควร และตามที่ผมได้อธิบายไปในบทที่แล้วเกี่ยวกับรูที่อยู่ตรง
กลางหัวG-penครับ ว่าเราไม่ควรจุ่มหมึกให้เกินรูนั้น เพราะข้อเสียของการจุ่มหมึกเยอะเกินไปคือทำให้
เราควบคุมเส้นได้ลำบากขึ้น เนื่องจากน้ำหมึกจะไหลลงมาเยอะจนเกินไป หรืออันตรายสุดขีดก็คืออาจ
จะให้ให้หมึกหยดลงบนตัวงานโดยไม่ได้ตั้งใจได้ครับ

จุ่มหมึกแค่ตามภาพก็เพียงพอแล้ว หมดแล้วค่อยจุ่มใหม่นะจ๊ะ





................................................................

ทั้งหมดข้างต้นที่พิมพ์ไปนั้นเป็นอารัมภบททั้งสิ้นครับ เนื้อหาจริงๆของบทนี้ จะอยู่ต่อจากนี้ไป 555
ต่อไปจะเป็นหลักในการใช้งาน หรือฝึกใช้งานเบื้องต้นเกี่ยวกับG-penครับ

วิธีการพลิกหามุมในการเขียนของG-penนั้นมีหลากหลายรูปแบบ แต่เบสิคที่สุดคือการคว่ำหัวลงไปตรงๆ
แล้วขีดไปในทิศทางที่เราต้องการ
แต่แนะนำว่าไม่ควรขีดลาดไปในทิศทางที่หัวปากกาชี้ไปทางนั้น เพราะจะทำให้ขูดกระดาษอย่างรุนแรง
จนกระดาษเป็นขุยได้ครับ (ลองนึกภาพเหมือนเอาปลายดาบแหลมๆไปกระซวกแทงพื้นไปข้างหน้าเรื่อยๆ)




G-penนั้นสามารถสร้างเส้นได้หลายน้ำหนัก ตามแรงกดของมือเรา ซึ่งควรจะหัดขีดเส้นให้ได้หลากหลาย
น้ำหนักตามศักยภาพของตัวมันครับ ซึ่งอาจจะฝึกโดยการขีดเส้นน้ำหนักเดียวกันเป็นแนวตั้ง เรียงกันไปเรื่อยๆให้ได้ทั้งน้ำหนักเส้นเดียวกัน และได้ระยะห่างของเส้นที่เท่าๆกันอย่างเป็นระเบียบ

ซึ่งวิธีฝึกนี้ เป็นวิธีที่นักเขียนอาชีพ ชอบใช้ฝึกฝนผู้ช่วยที่ทำหน้าที่ตัดเส้นงานเป็นอย่างมากครับ
(ผมเองก็เคยเป็นผู้ช่วยนักเขียน โดนจับฝึกวิธีนี้อยู่ไม่รู้กี่สิบแผ่นครับ 555)



อีกส่วนหนึ่งที่ควรฝึกเอาไว้ และใช้ให้เป็น คือการควบคุมต้นเส้นและปลายเส้นให้มีลักษณะเรียวแหลม
เพราะจพทำให้ทุกเส้นที่ขีดลงไปนั้นดูมีน้ำหนัก มีความอ่อนช่อยสวยงามกว่าเส้นที่มีต้นเส้นและปลายเส้นกุดๆตันๆ และวิธีขีดเส้นปบบนี้จะมีประโยชน์มากในเวลาที่เราต้องขีดเส้นต่อกัน(ในกรณีที่เราลากเส้นยาวๆทีเดียวไม่ไหว) เพราะปลายเส้นแรก จะเชื่อมกับต้นเส้นที่สองได้อย่างสวยงามครับ



และส่วนสุดท้ายที่หลายคนอาจจะไม่ต้องใช้ แต่ผมแนะนำว่าให้ลองฝึกฝนเอาไว้เยอะๆ แล้วจะทำให้มือเรานิ่งมากๆ ในเวลาที่เราจะG-penไปใช้ตัดเส้นงานทั่วไป นั่งก็คือการฝึกสานเส้นครับ


ถามว่าจะฝึกสานเส้นไปทำไม?

การฝึกสานเส้นนั้น เหมือนเป็นการนำการขีดใส้นในรูปแบบต่างๆมาใช้รวมกันในคราวเดียว ทั้งการที่ต้องใช้น้ำหนักเส้นเท่ากัน การเว้นระยะห่างของเส้นที่เท่ากัน การทิ้งปลายเส้นให้แหลม และนำทั้งหมดที่ได้กล่าวมาใช้ในคราวเดียว....อารมณ์เหมือนเราฝึกอย่างเดียว แต่จะอัพสเตตัสในหลายๆส่วนเพิ่มขึ้นมาพร้อมกันเลยทีเดียว

ยกตัวอย่างเช่น...งานของน้องนักเรียนในคลาสที่ผมสอนอยู่ งานของน้องจิน
 
 

งานของน้องณี

 

งานของน้องพิณ

 
จะเห็นได้ว่างานของน้องทั้งหมด ผมพยายามให้ฝึกเน้นไปในเรื่องของการสานเส้นเป็นหลัก ตามที่ได้กล่าวไปครับว่าการสานเส้นนั้น คือการรวบรวมเอาหลายๆเทคนิคในการขีดเส้นมารวมกันไว้ และทำให้เราได้ฝึก "คุมน้ำหนักเส้นในทุกๆเส้นที่ขีดลงไป" ตลอดเวลาในจำนวนเส้นที่มากมายมหาศาล แม้ว่างานของเราจะไม่ได้ใช้การสานเส้นเลยก็ตาม  แต่การฝึกมือหรือข้อมือด้วยการสานเส้นด้วยg-penเอาไว้บ้าง จะช่วยทำให้เส้นของเรานิ่งขึ้น และตัวเราเองก็มีสมาธิกับงานขึ้นเป็นอย่างมากครับ เพราะการสานเส้นนี้จำเป็นต้องใช้สมาธิและความใจเย็นสูงมากเลยทีเดียว  
 
...........................................................................

ซึ่งทั้งหมดที่ว่ามา ก็เป็นพื้นฐานการใช้งาน รวมถึงการฝึกใช้เจ้าG-penแบบมาตรฐานครับ แม้ว่าจะมีเทคนิคการใช้งานที่อาจจะมากกว่านี้ แต่เอาเข้าจริงแล้วใช้เพียงเบสิคที่ผมว่าไป ก็เพียงพอต่อการใช้งานแล้วครับ
ส่วนที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์การใช้งานของแต่ละคนว่ามีระยะทางมากน้อยเพียงใด และในระหว่างทางนั้น เราจะค้นพบเทคนิคส่วนตัวอะไรบ้าง เท่านั้นเองครับ

ตัวอย่างงานของผม ที่ใช้เทคนิคG-penทั้งหมดที่ผมได้กล่าวมา





ก็ขอจบบทของG-penเอาไวเแต่เพียงเท่านี้ บทความหน้าจะมาพูดถึงเรื่องอะไร หรือมีเรื่องอะไรที่อยากให้แนะนำก็สามารถรีเควสกันเข้ามาได้เลยนะครับผม

สวัสดีครับ

.......................................................................

แถม!

Tips เพิ่มเติม ที่หลายคนอาจจะสงสัยเกี่ยวกับการใช้G-pen

- G-penทุกหัว มักจะมีน้ำมันเคลือบอยู่บางๆ มีบางคนแนะนำให้ใช้ไฟแช็คลนเพื่อเผาน้ำมันทิ้งไปก่อน แต่ในตามความเป็นจริงแล้ว น้ำมันเหล่านั้นแทบไม่มีผลอะไรต่อการใช้งานเลยแม้แต่น้อยครับ เราสามารถใช้งานได้เลยโดยไม่ต้อง
ลนด้วยไฟแต่อย่างใด

- G-penหัวใหม่ๆเวลาซื้อมา มักจะมีหัวที่แหลม ขูดกระดาษ บางคนแนะนำให้ขัดด้วยกระดาษทรายเพื่อลบคมออกแต่ในความเป็นจริงแล้ว เวลาเราใช้งานไปสักพัก หัวปากกาจะหายคมเองครับ ไม่จำเป็นต้องขัดแต่งด้วยกระดาษทรายเพื่อไปทอนอายุการใช้งานของมันแต่อย่างใด

- ในการล้างหัวG-pen บางคนแนะนำให้ใช้แอลกอฮอลเช็ด บ้างก็ให้ใช้น้ำยาล้างเล็บ แต่ตามความเป็นจริงแล้วเพียงใช้น้ำเปล่าธรรมดาๆก็เพียงพอแล้วครับ ที่สำคัญคือหัดล้างเสียบ้างขณะใช้งาน แล้วเช็ดด้วยทิชชู่ให้สะอาดแค่นั้นเอง

- G-penทุกหัว มีอายุการใช้งานของมัน ยิ่งใช้ไปเรื่อยๆ หัวก็จะสึกไปเรื่อยๆ และถ้าเราใช้ไปจนถึงขั้นเส้นมันใหญ่เสียจนเราไม่สามารถคุมเส้นได้ ก็เปลี่ยนเถอะครับ ที่สำคัญคือการเก็บรักษา เพียงเก็บไว้ในที่แห้ง ให้อับชื้น ก็สามารถเลี่ยงการเกิดสนิมได้แล้วครับ
Share this article :

แสดงความคิดเห็น

 
Support : Creating Website | Johny Template | Mas Template
Copyright © 2011. MangaCourseParty - All Rights Reserved
Template Created by Creating Website Published by Mas Template
Proudly powered by Blogger